บทความคณิตศาสตร์
เรื่อง การสอนทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์จากวัสดุธรรมชาติ
บทความโดย ดร. นิติธร ปิลวาสน์
การสอนทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์จากวัสดุธรรมชาติ (Teaching Mathematics Basic Skills from Natural Materials)
คือ การส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ด้านการสังเกต เปรียบเทียบ การจัดกลุ่ม การเรียงลำดับ การนับ การรู้ค่าจำนวนจากวัสดุธรรมชาติที่ได้จากพืชและสัตว์ เช่น เมล็ดธัญพืชต่างๆ เปลือกข้าวโพด ใบมะพร้าว ฯลฯ และวัสดุธรรมชาติที่ได้จากสัตว์ เช่น เปลือกหอย เกล็ดปลา ที่นำมาจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การวาดภาพระบายสี การปั้น การร้อย การพิมพ์ภาพ ฯลฯ การนำวัสดุจากธรรมชาติที่ได้จากพืชและสัตว์ที่มีอยู่รอบตัวมาจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ เช่น การวาดภาพบนก้อนหิน การวาดภาพบนใบไม้ ฯลฯ กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์จากวัสดุธรรมชาติเหล่านี้ ช่วยให้เด็กมีความสนุกสนานเพลิดเพลินในการแสดงออกทางด้านอารมณ์และความรู้สึกผ่านสื่อต่างๆออกมาเป็นผลงานทางศิลปะ และสื่อวัสดุธรรมชาติที่มีลักษณะแตกต่างกันในเรื่องรูปร่าง สี ขนาด น้ำหนัก พื้นผิว เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ได้ ทั้งทักษะการสังเกต เปรียบเทียบ การนับ การจัดกลุ่ม การจัดลำดับ การเรียนรู้ค่าและจำนวน ฯลฯ
ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ (Mathematics Skills) เป็นทักษะหรือประสบการณ์สำคัญที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาที่มีความสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้กับเด็กปฐมวัย คณิตศาสตร์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็กปฐมวัย ซึ่งทั้งพ่อแม่และครูย่อมตระหนักถึงความสำคัญของคณิตศาสตร์อยู่แล้วว่า ในการเล่นและการสื่อสารพูดคุยของเด็กของเด็กนั้นมักมีเรื่องคณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ
ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ยังมีความสำคัญต่อเด็กปฐมวัยดังนี้
- เพื่อให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนคณิตศาสตร์เบื้องต้น ได้แก่ การสังเกต เปรียบเทียบ การแยกหมู่ การรวมหมู่ การเพิ่มขึ้นและการลดลง
- เพื่อขยายประสบการณ์เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ให้สอดคล้องกัน โดยการลำดับจากง่ายไปหายาก
- เพื่อให้เด็กเข้าใจความหมายและบอกสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ได้ถูกต้อง
- เพื่อฝึกทักษะเบื้องต้นในการคิดคำนวณ โดยการสร้างประสบการณ์ให้แก่เด็กปฐมวัยด้วยการฝึกการเปรียบเทียบรูปทรงต่างๆ และการบอกความแตกต่างในเรื่องของขนาด น้ำหนัก ระยะเวลา จำนวนของสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวได้ สามารถแยกแยะสิ่งของเป็นหมวดหมู่ เรียงลำดับเล็กไปหาใหญ่ สูงไปหาต่ำ แยกเป็นหมู่ย่อย การเพิ่มลดของจำนวน ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้เด็กพร้อมที่จะคิดคำนวณในขั้นต่อไป
- เพื่อฝึกการใช้เหตุผล อาจทำได้โดยการตั้งปัญหาให้เด็กคิดหาเหตุผล หาคำตอบ ค้นคว้าด้วยตนเอง โดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน มีการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและจะต้องเริ่มฝึกตั้งแต่ยังเล็ก
- เพื่อให้สัมพันธ์กับกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์และภาษา สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นจึงต้องให้สัมพันธ์กับตัวเด็กเอง
- เพื่อให้เด็กมีใจรักในวิชาคณิตศาสตร์ ครูควรพยายามจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เกม เพลง นิทาน เพื่อเป็นการเร้าความสนใจของเด็กให้เกิดความสนุกสนานและสร้างความรู้โดยไม่รู้สึกตัว เมื่อเด็กรักวิชาคณิตศาสตร์ เด็กจะสนใจ กระตือรือร้นอยากค้นคว้าหาสาเหตุด้วยตัวเอง ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจอยากจะหาเหตุผลต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น