สรุปบทความวิทยาศาสตร์
เรื่อง วิทยาศาสตร์กับการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
ผู้เขียน : คุณครูอุ้ม อนุบาลศรีสะเกษ
เด็กเป็นนักค้นคว้าเพื่อการเรียนรู้โดยธรรมชาติ การหยิบจับ สัมผัส และการสังเกต เป็นวิธีการเรียนวิทยาศาสตร์ พฤติกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์ของเด็ก คล้ายกับการเรียนเหตุผลทางคณิตศาสตร์ เช่น การจำแนก การเปรียบเทียบ การหาความสัมพันธ์ของวัตถุ การเรียนวิทยาศาสตร์และการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยจึงพัฒนาควบคู่กัน แต่การเรียนวิทยาศาสตร์จะเน้นการเรียนทักษะวิทยาศาสตร์และธรรมชาติรอบตัว ได้แก่ เรื่องพืช สัตว์ เวลา ฤดูกาล น้ำ และอากาศร่วมด้วย
วิทยาศาสตร์ให้อะไรกับเด็ก
1. กระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล เพราะ วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของเหตุผล พิสูจน์ได้ เด็กที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์จึงมีระบบความคิดเชิงตรรกะที่ดี
2. พัฒนาการทางความคิดมากกว่าความจำ เพราะ ไม่มีทฤษฏีใดในโลกที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ การท่องจำไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก หากเป็นการคิดหาเหตุผล และพิสูจน์ว่าสิ่งที่จำนั้นเป็นความจริงหรือไม่
3. จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เด็กๆสามารถนำวิทยาศาสตร์และจินตนาการมารวมเป็นเรื่องเดียวกันได้
4. ทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ ถ้าเด็กได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างถูกวิธี เขาจะมีความสุขและสามารถต่อยอดไปในชั้นสูงๆได้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าเด็กทุกคนที่ชอบวิทยาศาสตร์จะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์เสมอไป
บทบาทการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย
1. การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย ช่วยให้เด็กได้พัฒนาความตระหนักรู้ (Cognition) เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกรอบตัว เด็กจะได้รับการส่งเสริมและตอบสนองต่อคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างการสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวของตนเองอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีและได้ฝึกฝนการจัดโครงสร้างความคิดจากประสบการณ์ที่ได้รับ ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานโครงสร้างกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) เกี่ยวกับโลกธรรมชาติรอบตัวให้ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่ในระดับปฐมวัย จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กเมื่อเติบโตขึ้น
2. การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย ช่วยให้เด็กได้พัฒนาคุณลักษณะตามวัยที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่
2.1 คุณลักษณะตามวัยด้านร่างกาย
2.2 คุณลักษณะตามวัยด้านอารมณ์และจิตใจ
2.3 คุณลักษณะตามวัยด้านสังคม
2.4 คุณลักษณะตามวัยด้านสติปัญญา
3. การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย ช่วยให้เด็กได้มีโอกาสใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ในการออกแบบ และสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ตามวัยและศักยภาพผ่านทางการเล่นทางวิทยาศาสตร์
กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นการเรียนรู้ที่มีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ คือ
1. การฝึกทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์
2. การเรียนรู้ข้อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นธรรมชาติรอบตัวที่เด็กพบในชีวิตประจำวัน โดยเน้นการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ
- การสังเกต
- การจำแนก เปรียบเทียบ
- การวัด
- การสื่อสาร
- การทดลอง
- การสรุปและนำไปใช้
สิ่งที่ได้จากการเรียนวิทยาศาสตร์ คือ การสร้างให้เด็กมีนิสัยค้นคว้า การสืบเสาะ และการทำความเข้าใจธรรมชาติรอบตัว รู้จักวิธีการค้นหาความรู้อย่างนักวิทยาศาสตร์ โดยการพัฒนาทักษะพื้นฐานวิทยาศาสตร์ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบตัวไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น